ทำความรู้จักกับ PMDD อาการก่อนมีประจำเดือนที่ผู้หญิงหลายคนไม่รู้


Premenstrual Dysphoric Disorder

Categories:

          หงุดหงิด ! โมโหร้าย ! แต่พอผ่านไปสักพักกลับนั่งร้องไห้เสียอย่างนั้น อารมณ์แปรปรวนจนคนรอบข้างยังกลัว อาการเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาของผู้หญิงเวลาก่อนมีประจำเดือนแต่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากมีอาการทางอารมณ์ที่รุนแรงจนควบคุมตนเองไม่ได้และสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นแล้วล่ะก็ อาจเป็นอาการที่เรียกว่า PMDD ที่ผู้หญิงบางคนอาจเป็นแต่ไม่รู้ตัวอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับอาการ PMDD นี้กันเลยดีกว่า

PMDD คืออะไร

   PMDD เป็นคำย่อมาจาก Premenstrual Dysphoric Disorder ซึ่งเป็นอาการผิดปกติที่แสดงออกทางร่างกายและทางอารมณ์ อาการที่แสดงออกทางร่างกายคือ ปวดท้อง ท้องอืด ปวดศีรษะ อยากอาหาร อ่อนเพลีย ปวดตามข้อต่อและกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ คัดตึงหน้าอก ส่วนอาการที่แสดงออกทางอารมณ์คือ มีอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ขี้รำคาญ อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้ามากจนควบคุมสติตนเองไม่ได้ ไวต่อความรู้สึก รู้สึกขัดแย้ง ขาดสมาธิ โดยอาการ PMDD จะเกิดขึ้นประมาณ 7-10 วันก่อนมีประจำเดือนในแต่ละรอบ ซึ่งอาการนี้จะรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและหน้าที่การงาน

PMDD แตกต่างจาก PMS อย่างไร

PMS หรือ Premenstrual Syndrome เป็นอาการทางกาย พฤติกรรม และอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการมีประจําเดือน เหมือนกับ PMDD แตกต่างกันเพียงแค่กลุ่มอาการของ PMS นั้นจัดอยู่ในระดับไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง ซึ่งอาการของ PMS โดยทั่วไปแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตมากนัก หากจะพูดง่ายๆก็คือ PMDD มีอาการที่รุนแรงและอาจจะเป็นต่อเนื่องยาวนานมากกว่า PMS

สาเหตุของอาการ PMDD

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดอาการ PMDD ที่แน่ชัด โดยมีการสันนิษฐานไว้ 3 ข้อหลักนั่นก็คือ

  1. สันนิษฐานว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน โดยเฉพาะในรอบเดือนที่มีการตกไข่เนื่องจากฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

2. ความเครียด ภาวะซึมเศร้า

3. การลดลงของสาร Serotonin ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารสำคัญของการรับส่งกระแสประสาท ที่มีความสัมพันธ์กันกับภาวะทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ความโกรธและอาการซึมเศร้า

แนวทางในการรักษา PMDD

   หากมีอาการที่รุนแรงควรทำการรักษาโดยการปรึกษาแพทย์เป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะให้ยาคลายเครียด เพื่อลดอาการซึมเศร้า โดยอาจเป็นยาคุมกำเนิดชนิด 24+4 รวมทั้งยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และการรักษาโดยใช้จิตบำบัด แต่หากมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถดูแลตัวเองได้แบบพื้นฐาน เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกับความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดการดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ และดื่มแอลกฮอล์ หันมารับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น